ศัพท์ธรณีวิทยาน่ารู้ : บรรพชีวินวิทยา (paleontology)
  • 26 มีนาคม 2567
  • 170 ครั้ง

ศัพท์ธรณีวิทยาน่ารู้ : บรรพชีวินวิทยา (paleontology)
.
โลกถือกำเนิดขึ้นมาหลายพันล้านปี ระยะเวลายาวนั้นมีหลายเหตุการณ์อุบัติขึ้นและพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน แต่การที่จะได้ข้อมูลนั้นมานักธรณีวิทยาจะต้องศึกษาอายุของชั้นหินโดยวิธิทางวิทยาศาสตร์จากแร่กัมมันตรังสี และจากการเปรียบเทียบซากดึกดำบรรพ์ที่พบอยู่ในชั้นหิน การศึกษาสิ่งมีชีวิตในอดีตหรือซากดึกดำบรรพ์นี้คือ บรรพชีวินวิทยา (paleontology) วิชาที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตในอดีตโดยอาศัยข้อมูลจากซากดึกดำบรรพ์ที่หลงเหลืออยู่ รวมทั้งสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในอดีตกับปัจจุบัน สภาพสิ่งแวดล้อม เและการเทียบสัมพันธ์ เพื่อกำหนดลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติความเป็นมาของโลก
.
การศึกษาถึงประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเช่นการสูญพันธุ์ของสัตว์ประเภทใดประเภทหนึ่งบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และสาเหตุของการเปลี่ยนนั้นย่อมมีผลมาจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลก ณ ช่วงเวลานั้น หรือแม้วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อธิบายความก้าวหน้าทางธรณีกาลหรือบอกลำดับเวลาจากสิ่งมีชีวิตในอดีต บรรพชีวินวิทยาจึงเป็นวิชาทางธรณีวิทยาแขนงหนึ่งที่อาศัยวิชาชีววิทยาปัจจุบันมาศึกษาเปรียบเทียบซากดึกดำบรรพ์เพื่อจำแนกสิ่งมีชีวิตแต่ละช่วงยุค ช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในอดีตมากขึ้น
.
ภาพโดยกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ : นักธรณีวิทยากำลังเตรียมซากดึกดำบรรพ์หลังการขุดพบ ทำความสะอาด ใช้เครื่องมือสกัดหินออก ซ่อมแซม อนุรักษ์ให้คงทน ก่อนการศึกษาวิจัย ในห้องปฏิบัตการอนุรักษ์ซากดึกบรรพ์ พิพิธภัณฑ์สิรินธร-Dinosaur museum จังหวัดกาฬสินธุ์

ที่มา : กรมทรัพยากรธณี