ธรณีวิทยาน่ารู้: การเก็บอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ต้นฉบับ
.
ซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกขุดค้นพบตามแหล่งต่างๆ หลังผ่านขั้นตอนการอนุรักษ์โดยผู้เชี่ยวชาญ และขึ้นทะเบียนเป็นฐานข้อมูลไว้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เรียบร้อยแล้วแล้วจะนำมาจัดเก็บในคลังจัดเก็บตัวอย่างเพื่อคงสภาพให้สมบูรณ์มากที่สุด
.
การจัดเก็บรักษาตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ในคลังจัดเก็บตัวอย่าง ทำได้หลายแบบ เช่น จัดเก็บในคลังแยกตามประเภทของซากดึกดำบรรพ์ เช่น สัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พืช ร่องรอย หรือแยกตามแหล่งที่ค้นพบ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น มีเจ้าหน้าที่ที่มีองค์ความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาคอยดูแล และสามารถให้ผู้เชี่ยวชาญจากที่อื่นมาศึกษาเปรียบเทียบได้สะดวก โดยห้องที่จัดเก็บตัวอย่างควรเป็นห้องที่มีความชื้นต่ำและควบคุมอุณหภูมิให้คงที่
.
ความสำคัญของการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ เพราะถ้าอุณหภูมิที่ต่างกันมาก เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นต่างกันเกินไป จะทำให้ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลหด-ขยายตัวและแตกหักเสียหายในที่สุด นากจากนี้ยังจำเป็นต้องควบคุมความชื้นด้วย เพราะความชื้นในอากาศจะไปทำปฏิกิริยากับแร่ในซากดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะแร่กลุ่มที่มีกำมะถัน จะทำให้ซากดึกดำบรรพ์ปริแตกเสียหายเพิ่มขึ้น
.
หากเป็นตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (Holotype) ซึ่งเป็นตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ที่ศึกษาแล้วพบว่าเป็นชนิดใหม่ และมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ใช้สำหรับเป็นตัวอย่างอ้างอิงและใช้เปรียบเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ เมื่อมีนักวิจัยเข้ามาศึกษา โดยจะแยกเก็บรักษาในห้องพิเศษพร้อมตู้นิรภัยที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการสูญหาย
.
ทั้งนี้ ซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบจะไม่นำมาจัดแสดงในที่สาธารณะ เนื่องจากอาจเกิดการแตกหักชำรุดเสียหายได้ และถ้าตัวอย่างดังกล่าวเสียหายจะถูกยกเลิกจากการเป็นซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบทันที
.
ข้อมูลโดย อดุลย์วิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2
ภาพ: ซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (Holotype) ที่จัดเก็บในตู้ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิไว้ ณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ-พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ปทุทธานี
ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี