ธรณีวิทยาน่ารู้: นักธรณีวิทยารู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่พบคือ (หงอนพญานาค) ฟอสซิลกรามช้าง
  • 26 มีนาคม 2567
  • 71 ครั้ง

ธรณีวิทยาน่ารู้: นักธรณีวิทยารู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่พบคือ (หงอนพญานาค) ฟอสซิลกรามช้าง
.
ฟันข้างปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกระดูกแผ่นแบน ๆ ที่มีโพรงอยู่ภายในแต่ละแผ่นหนาราว 1 -1.5 เซนติเมตร เรียงซ้อนต่อเนื่องกันเป็นแถวยาวโค้งตามรูปขากรรไกรซึ่งเป็นที่ยึดเกาะของแผ่นฟันเหล่านี้ ด้านที่ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรจะมีลักษณะเป็นแผ่นห่างกัน แต่ด้านบดเคี้ยวจะเบียดชิดติดกันและเชื่อมต่อกัน จึงไม่หลุดออกมาเป็นซี่เหมือนฟันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ หรือหากแตกหักส่วนใหญ่ก็จะยังคงมีลักษณะเป็นแผ่นยาวเรียงติดกันเช่นเดียวกับ ซากดึกดำบรรพ์ฟันช้างในภาพเล็กที่นักธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 เข้าตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ ในพื้นที่บ้านบางเหียน จังหวัดกระบี่ เมื่อเดือนตุลาคม 2563
.
แม้ซากดึกดำบรรพ์ฟันกรามช้างในยุคแรกจะมีปุ่มฟันขนาดใหญ่และรากฟันสั้นในบดเคี้ยวยใบไม้อ่อน จนกระทั่งเห็นความแตกต่างชัดเจนในช่วงวิวัฒนาการของช้างแมมมอทและช่วงปัจจุบันที่กลายเป็นแผ่นฟันหลายแผ่นประกอบกันเป็นซี่ฟันเพื่อเคี้ยวอาหารที่แข็งขึ้นต่างจากบรรพบุรุษ นักธรณีวิทยาจึงใช้การเปรียบเทียบลักษณะฟันกับซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบมาก่อนหน้านี้ นี้ควบคู่กับเทคโนโลยี CT scan และการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี เพื่อให้ทราบถึงช่วงยุคที่ช้างนั้นตายและสะสมตัวกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ และลักษณะซากดึกดำบรรพ์ฟันของช้างที่พบมีการแทนที่ของแร่ธาตุจนมีน้ำหนักและความแข็งคล้ายหิน มีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับขนาด นักธรณีวิทยาจึงสามารถแยกได้ว่าสิ่งพบคือซากดึกดำบรรพ์ฟันช้าง
.
ปัจจุบันนักธรณีวิทยาสามารถศึกษาจนรู้ได้ว่าช้างมีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกายุคเทอร์เชียรีหลังยุคของไดโนเสาร์ จากการพบชิ้นส่วนฟันกรามช้างโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ฟอสเฟตเทอเรียม (Phosphaterium) พบชิ้นส่วนฟันกรามอายุราว 53 ล้านปี หรือสมัยพาลีโอซีน ที่ประเทศโมรอคโค ต่อมาจึงแพร่กระจายไปสู่ทวีปยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่พบความหลากหลายแหล่งซากช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดถึง 10 สายพันธุ์ จากซากช้างดึกดำบรรพ์ 55 สายพันธุ์ของทั้งโลกเท่าที่เคยพบเจอซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดนครราชสีมาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจอีกแห่งของอุทยานธรณีโคราช
.
อ้างอิงข้อมูล:
เบ็ญจา เสกธีระ.(2539). เรื่องประกอบภาพฟันช้าง ข่าวสารการธรณี, 41(3), 64 - 65.
เยาวลักษณ์ ชัยมณี, โชติมา ยามี, พรรณิภา แซ่เทียน, และกิตติ ขาววิเศษ. (2546). ความหลากหลายทางชีวภาพของช้างโบราณในจังหวัดนครราชสีมา (รายงานวิชาการ). กรุงเทพฯ : สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี., 2546

ที่มา : กรมทรพยากรธรณี