อุลกมณี หรือเทกไทต์ (Tektite)
  • 26 มีนาคม 2567
  • 58 ครั้ง

อุลกมณี หรือเทกไทต์ (Tektite) มาจากคําว่า Tektos ในภาษากรีก แปลว่า หลอมเหลว (Molten) เป็นแก้วที่เกิดตามธรรมชาติ เกิดจากการหลอมเหลวของวัสดุหินหรือทรายที่อยู่บนโลก โดยได้รับความร้อนจากการพุ่งชนของอุกกาบาตและดาวหาง หลังเกิดการพุ่งชน หินหรือทรายหลอมละลายจะกระเด็นขึ้นไปบนท้องฟ้า เกิดการเย็นและแข็งตัวกลางอากาศ ก่อนจะตกกลับคืนสู่พื้นดิน ของแข็งที่เกิดจากเย็นตัวอาจตกกระเด็นไกลไปจากจุดเดิมเป็นระยะทางกว่าหลายร้อยกิโลเมตร

ในธุรกิจการค้า มีการนําอุลกมณีมาใช้ประโยชน์ เป็นอัญมณี และเครื่องประดับต่างๆ

อุลกมณี มีลักษณะเป็นเนื้อแก้ว มีสีดำ น้ำตาล และ เขียว โปร่งแสงถึงทึบแสง ภายในเนื้ออุลกมณีมักพบลักษณะตําหนิเส้นไหล (Flow Structure) และฟองอากาศ (Gas Bubble) บริเวณผิวภายนอกพบลักษณะที่เป็นหลุมเล็กๆ ผิวขรุขระ และ รอยแตกแบบก้นหอย (Conchoidal fracture) รวมทั้งริ้วเส้นลายขนาน (Striae) เป็นตําหนิบนพื้นผิวอุลกมณี (Tektite surface) ตั้งแต่บางส่วนจนถึงเกือบทั้งหมดของผิว

อุลกมณีมีรูปร่างไม่แน่นอน อาจเป็นก้อนกลม ยาวแบน หรือแท่งกลมยาว ขึ้นอยู่กับการเกิดในขณะนั้น มีขนาดตั้งแต่มิลลิเมตรถึงเซนติเมตร สามารถพบได้ตามจุดต่างๆ ทั่วโลก ยกเว้นในทวีปแอนตาร์กติกและทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร นครพนม และชัยภูมิ นอกจากนี้ ยังพบอุลกมณีเล็กน้อยที่จังหวัดเชียงราย ลำพูน แพร่ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ข้อมูล : กองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี

ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี