"พื้นที่สีเขียว" หัวใจสำคัญของชุมชน
  • 19 พฤษภาคม 2566
  • 291 ครั้ง

เมื่อชวนนึกถึง “พื้นที่สีเขียว” ที่ทุกคนสามารถสูดอากาศได้อย่างเต็มปอด พร้อมพักสายตากับต้นไม้ใบหญ้า เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้สึกผ่อนคลายได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ พื้นที่สีเขียวจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่เป็นอย่างมาก
.
พื้นที่สีเขียว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สวนสาธารณะเท่านั้น แต่รวมไปถึงพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าออฟฟิศ สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ หรือแม้แต่พื้นที่ปลูกต้นไม้ในบ้าน ก็ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้างความผ่อนคลายให้กับเราได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น พื้นที่สีเขียวจึงหมายถึง พื้นที่ตามธรรมชาติ พื้นที่กึ่งธรรมชาติ (มีการก่อสร้าง) หรือพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก อาจเป็นพื้นที่สาธารณะหรือเอกชน ที่สาธารณชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
.
ทั้งกิจกรรมทางด้านนันทนาการ กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย ตลอดจนเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียว แต่เป็นระบบนิเวศทั้งระบบที่ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน
.
ซึ่งพื้นที่สีเขียวยังคงมีอีกหลายมิติที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งพื้นที่สีเขียวธรรมชาติ ที่เป็นพื้นที่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเดิม มีความสำคัญต่อระบบนิเวศสูง พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการพักผ่อน หรือออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและพื้นที่นั้นๆ เช่น ช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณภูมิความร้อนในเขตเมือง กรองฝุ่นละออง และลดมลพิษ พื้นที่สีเขียวบริเวณเส้นทางสัญจร จะอยู่ในแนวเส้นทางสัญจรสาธารณะ สร้างภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ผู้สัญจร และพื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน เป็นพื้นที่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้เป็นเจ้าของ เช่น พื้นที่เกษตร สวนไม้ผลยืนต้น สวนป่าเศรษฐกิจ เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เป็นหัวใจสำคัญของเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนนั้น ต้องเน้นเรื่องของการเข้าถึงได้ของประชาชนทุกกลุ่ม จัดสรรพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องมีการจัดอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย โดยต้องคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มอายุ เพศ และประเภทกิจกรรมเป็นสำคัญด้วย
.
#ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
ที่มาข้อมูล :
ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support: SDG Move) https://bit.ly/40JwvpK
รายงานสวนสาธารณะหลักของกรุงเทพมหานคร https://bit.ly/3JWln2I
SALIKA Knowledge sharing space https://www.salika.co/2022/01/20/green-space-in-big-city/
.