พรรณไม้เกียรติประวัติไทย "หยาดสยาม
  • 26 มีนาคม 2567
  • 61 ครั้ง
𝘔𝘪𝘤𝘳𝘰𝘤𝘩𝘪𝘳𝘪𝘵𝘢 𝘵𝘩𝘢𝘪𝘭𝘢𝘯𝘥𝘪𝘤𝘢 C. Puglisi
วงศ์ : GESNERIACEAE
จากการศึกษาของ Dr C. Puglisi และ Dr D. J. Middleton นักพฤกษศาสตร์จากสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้สกุล 𝘔𝘪𝘤𝘳𝘰𝘤𝘩𝘪𝘳𝘪𝘵𝘢 (C. B. Clarke) Yin Z. Wang พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกและเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ตีพิมพ์ในวารสาร Gardens' Bulletin Singapore เล่มที่ 69(2) หน้า 211–284 ปี ค.ศ. 2017 ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข 𝘛𝘦𝘵𝘴𝘢𝘯𝘢 𝘦𝘵 𝘢𝘭. 904 เก็บจาก อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ (BKF) สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คำระบุชนิด ‘𝘵𝘩𝘢𝘪𝘭𝘢𝘯𝘥𝘪𝘤𝘢’ ตั้งตามชื่อประเทศไทย สถานที่ที่พบพรรณไม้ชนิดนี้เป็นแห่งแรก
หยาดสยามเป็นไม้ล้มลุก สูง 10–50 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ไม่มีขนต่อม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง 1.5–7 ซม. ยาว 2.8–11 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนตัดถึงรูปลิ่ม ขอบเรียบ มีขนครุย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนปกคลุมทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 7–8 เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ มี 2–8 ดอก ออกตามซอกใบปลายกิ่ง ใบประดับเห็นไม่เด่นชัด กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 5–7 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ กลีบดอกสีม่วง โคนเชื่อมกันเป็นหลอดแคบ สั้น ส่วนปลายแผ่ขยายออกรูปปากแตร โค้ง ปลายแยกเป็น 5 แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมกัน โคนกลีบปากด้านในมีแต้มสีม่วงเข้ม โคนกลีบปากล่างด้านในมีสีขาว ตรงกลางมีแต้มสีเหลือง เกสรเพศผู้ 2 เกสร ก้านชูอับเรณูไม่ยื่นโผล่พ้นหลดอดกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักตรง มีขนปกคลุมประปราย เมล็ดสีน้ำตาล รูปรี ขนาดเล็ก จำนวนมาก
หยาดสยามเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบที่ชังหวัดชัยภูมิ ตามหน้าผาเขาหินปูน ป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 460 ม. ออกดอกเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นผลเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
เอกสารอ้างอิง
Puglisi, C. & Middelton, D. J. 2017. A revision of 𝘔𝘪𝘳𝘰𝘤𝘩𝘪𝘳𝘪𝘵𝘢 (Gesneriaceae) in Thailand. Gardens' Bulletin Singapore 69(2): 211–284.
ภาพ : ดร.นัยนา เทศนา

ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช