ตั้งรับ ปรับตัว กับ ความเสี่ยงจากภัยความร้อน
  • 26 เมษายน 2567
  • 24 ครั้ง

ตั้งรับ ปรับตัว กับ ความเสี่ยงจากภัยความร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของความเสี่ยงระดับโลกที่สร้างความเสียหายให้กับโลกใบนี้ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพอีกด้วย โดยผลกระทบนี้ขยายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่เปราะบาง หรือ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2573 – 2593 (ค.ศ. 2030 – 2050) จะมีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากการขาดสารอาหาร โรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง และความเครียดจากความร้อนเพิ่มอีกประมาณ 250,000 รายต่อปี โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การเกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 166,000 คน

อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้จำกัดความคำว่าคลื่นความร้อน (Heat Wave) เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบการเกิดคลื่นความร้อน แต่เป็นผลกระทบจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น


จากข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ในวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า...

  • กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 38 – 41 องศาเซลเซียส
  • ภาคเหนือและภาคกลาง จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 40 – 42 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 39 – 41 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออก จะมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 34 – 39 องศาเซลเซียส
  • ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 35 – 38 องศาเซลเซียส
  • ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุด 35 – 40 องศาเซลเซียส

จากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดนี้ มีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง เป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากภัยความร้อนในช่วงฤดูร้อนนี้
โดยประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์


ฤดูร้อนในปีนี้จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนอยู่ที่ 35 - 38 องศาเซลเซียส โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43 - 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย (44.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 28 เมษายน 2559 และ อ.เมือง จ.ตาก 15 เมษายน 2566) และในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยสภาพอากาศฤดูร้อนในปีนี้ อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43 – 44.5 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกของมนุษย์ หรือค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) อาจสูงมากกว่า ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน - ต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนมากบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2567

สำหรับค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ของประเทศไทย ใช้ในการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยจากความร้อน โดยค่าดัชนีความร้อนเป็นค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร (Feel like) ด้วยการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้จริงจากความสัมพันธ์ของอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้จริงกับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ และนำมาใช้ระบุความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
1) ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ดัชนีความร้อน 27.0 – 32.9 องศาเซลเซียส มีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ผื่นความร้อน บวมจากความร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นำไปสู่การเกิดตะคริวจากความร้อนได้
2) ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) ดัชนีความร้อน 33.0 – 41.9 องศาเซลเซียส มีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพลียแดด (Heat exhaustion) และเป็นตะคริวจากความร้อนได้ และอาจส่งผลให้เกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทโตรก (Heat stroke)
3) ระดับอันตราย (สีส้ม) ดัชนีความร้อน 42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส มีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นตะคริวจากความร้อน และเกิดโรคเพลียแดดจากความร้อน (Heat exhaustion) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทโตรก (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนอย่างต่อเนื่อง
4) ระดับอันตรายมาก (สีแดง) ดัชนีความร้อน >= 52.0 องศาเซลเซียส มีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงสูงมากที่เกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทโตรก (Heat stroke)

จากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ความร้อนในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยที่ผ่านมามีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขอแจ้งเตือนให้ประชาชนมีการปรับวิธีการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ที่ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากความร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน มีอาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ สับสน มึนงง มีผื่นแดงตามผิวหนัง ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ รวมทั้งสวมเสื้อผ้าสีอ่อน เพื่อระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด

ทั้งนี้ ควรติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง


ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา, 2567
กรมอนามัย, 2567
สสส., 2566
Heat Index, 2567
SDG Move, 2565

"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"

ที่มาสื่อประชาสัมพันธ์ : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.)