คาร์บอนเครดิต ไม่ใช่ สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • 26 เมษายน 2567
  • 29 ครั้ง

คาร์บอนเครดิต ไม่ใช่ สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
.
เมื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นสิ่งที่มีต้นทุนต้องจ่าย ภาครัฐในหลายประเทศจึงได้กำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ อย่างกลไกตลาด (Market-based Mechanism) มาเป็นแรงจูงใจ ซึ่งตลาดคาร์บอนประกอบด้วยสองตลาดหลัก คือ ตลาดภาคบังคับ และตลาดภาคสมัครใจ
.
ตลาดแบบทางการหรือตลาดภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) เป็นตลาดที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ส่งผลให้มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายได้ โดยมีภาครัฐเป็นผู้ออกกฏหมาย กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ในรูปของ “สิทธิ” ภายใต้ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ซึ่งเป็นกลไกประเภท “Site Based” หรือ “Facility Based” ในระดับองค์กร โดย 1 สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq) และอายุของสิทธิ์จะมีอายุหนึ่งปีหรือขึ้นกับภาครัฐเป็นผู้กำหนด กรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนสิทธิที่ได้รับการจัดสรร ก็สามารถขายสิทธิที่เหลือแก่โรงงานอุตสาหกรรมอื่นได้ ในทางกลับกันหากปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินสิทธิที่ได้รับ ก็ต้องซื้อสิทธิจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ถือเป็นระบบที่จำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน หรือเรียกว่า Cap-and-Trade
.
ตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นตลาดสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” ที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการหรือองค์กร มีการซื้อขายด้วยความสมัครใจ (Voluntary) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target) คาร์บอนเครดิต เป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ "Project Base" หรือในระดับโครงการ มีหน่วยเป็น ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) โดยอายุของคาร์บอนเครดิตยังไม่มีกำหนด ทั้งนี้ขึ้นกับเจ้าของมาตรฐานจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลา ปัจจุบันในประเทศไทยคาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายมาจากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) พัฒนาขึ้นโดย อบก. ซึ่งสามารถดำเนินการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต ได้ 2 รูปแบบ คือ 1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น FTIX Exchange 2. การซื้อขายโดยการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง หรือ Over The Counter (OTC)
.
จะเห็นได้ว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ไม่ใช่ สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับซื้อขายได้เหมือนกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของขอบเขตการดำเนินงาน เป้าหมาย รูปแบบ วัตถุประสงค์ และราคา อย่างชัดเจน
.
ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)