แนวทางการดำเนินงาน โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริและกิจการพิเศษของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • 21 กรกฎาคม 2566
  • 509 ครั้ง

หลักการและเหตุผล

                   โครงการจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ได้อย่างรีบด่วนและมีผลในระยะยาว โดยการพัฒนานั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ตามความจำเป็น และประหยัด ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานตั้งแต่การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ แหล่งน้ำ และการประกอบอาชีพ มีการสำรวจและเก็บข้อมูลจริงจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่น มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยจะต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกัน การดำเนินงานมีความคล่องตัว สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

โครงการจัดแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

  1. โครงการพัฒนาด้านน้ำ
  2. โครงการพัฒนาด้านการเกษตร
  3. โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
  4. โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ
  5. โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข
  6. โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร
  7. โครงการด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา
  8. โครงการพัฒนาแบบบูรณาการและโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ โดยภารกิจของกระทรวงเพื่อการดำเนินงานที่มีสอดคล้องตรงตามพระราชประสงค์ ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดอยู่ในประเภทที่ 3 โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริในระดับพื้นที่ และน้อมนำแนวพระราชดำริมาขยายผลให้เป็นรูปธรรม
  2. ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาชน ในการร่วมกันสนับสนุนโครงการพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ
  3. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการพระราชดำริฯ
  4. รวบบรวมและจัดทำระบบฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อวิเคราะห์สรุปองค์ความรู้ ศึกษาต่อยอด ขยายผลการดำเนินงานและเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน

 

เป้าหมาย

1. เพื่อประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และภาคีเครือข่าย ได้มีส่วนร่วมบูรณาการและเปลี่ยนองค์ความรู้ตามสภาพสังคม และสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ (area based) โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนตามประเภทของโครงการณ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่จังหวัด

โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

                   เป็นโครงการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน เช่น การส่งเสริมและพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมการทำและใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การใช้ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงเพื่อเพิ่มผลผลิตในแปลงเกษตร
  2. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ เช่น การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายดูแลรักษาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
  3. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เช่น การสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ทำกินของตนเอง การปลูกไม้ 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง การสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อ
    เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยชุมชนมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ป่าเพื่อ
    เฝ้าระวังป้องกันและลาดตระเวน รวมทั้ง การจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป