โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
  • 20 กรกฎาคม 2566
  • 385 ครั้ง

อพ.สธ. คืออะไร?

 

 “การรักทรัพยากร คือ การรักชาติ รักแผ่นดิน นี้ก็คือรักสิ่งที่เป็นสมบัติของตัวเขา การที่ให้เขารักษาประเทศชาติหรือรักษาสมบัติของเขานั้น ทำได้โดยสร้างความรักความเข้าใจ ถ้าใครไม่รู้จักกันเราก็ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่มีความผูกพันต่อกัน แต่ว่าถ้าให้เขารู้จักว่าสิ่งนั้นคืออะไร เขาจะรู้สึกชื่นชมและรักหวงแหนในสิ่งนั้นว่าเป็นของตนและจะทำให้เกิดประโยชน์ได้...” พระราโชวาทของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ในการประชุมประจำปีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร

อพ.สธ. คือชื่อย่อของ    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทรงใช้สวนจิตรลดาทดลองโครงการส่วนพระองค์ด้านการเกษตร อนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรงปลูกป่ายางนาและพืชพรรณในแปลงป่าสาธิต ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย และพรรณไม้เอกลักษณ์ของพระราชวัง รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

เดือนมิถุนายน 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน “รักษาฐานทรัพยากรแผ่นดิน” อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ เป็นจุดเริ่มต้นของ อพ.สธ. โดยดำเนินงานตามแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่หนึ่งถึงเจ็ด (ปัจจุบัน 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2569) ทรงพระราชทานให้ “ชมพูภูคา” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของ อพ.สธ.

เป้าหมายรวมของ อพ.สธ.

เพื่อพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย

ทรัพยากร ประกอบด้วย ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

วัตถุประสงค์

  1. ให้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากร
  2. ให้ร่วมคิดร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย
  3. ให้มีระบบข้อมูลทรัพยากรสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ

สมาชิก อพ.สธ. แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

  1. กลุ่มหน่วยงานสนองพระราชดำริ โดยพระราชานุญาต 10 กลุ่ม (G1 - G10)
  2. กลุ่มสมาชิกภาคสมัครใจ ประกอบด้วย สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน (สถานศึกษา)
    และสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น (อปท.)

แนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ. ประกอบด้วย 3 กรอบ 8 กิจกรรม

ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. 5 แห่ง : มีบทบาทหน้าที่ เป็นผู้แทน อพ.สธ. ระดับพื้นที่ ประสานงาน
และขับเคลื่อนงานสนองพระราชดำริ เสมือนเป็นพี่เลี้ยงของหน่วยงานสนองพระราชดำริในการดำเนินกิจกรรม อพ.สธ. ประกอบด้วย

  1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. 21 แห่ง ทั้งนี้ อพ.สธ. เปิดโอกาสให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนองพระราชดำริ
ในทุกภูมิภาคเป็นศูนย์ประสานงานตามความพร้อม ดำเนินการภายใต้กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุน
การอนุรักษ์ทรัพยากรอีกด้วย