03 แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573
  • 15 กุมภาพันธ์ 2566
  • 522 ครั้ง

แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 - 2573

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก อาทิ อุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลงในฤดูน้ำแล้ง จำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มมากขึ้นและจำนวนวันที่อากาศเย็นลดลง โดยส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้งและวาตภัย ที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตน้ำทะเลขึ้นสูงซึ่งกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในหลายสาขา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์พืช ชนิดพันธุ์สัตว์ การย้ายถิ่นฐานของประชากร และการแพร่กระจายของโรค

จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ระบุให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดลำดับจากองค์กร Germanwatch ให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีการเติบโตของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ.2543 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้) คิดเป็น 226.09 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มเป็น 318.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ.2556

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงส่งผลให้เกิดความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ

เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) กำหนดให้ทุกประเทศเสนอเป้าหมายและความก้าวหน้าของการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นระยะ ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวมีผลดีในการสร้างกลไกให้เกิดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 28 ประเทศ และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ การลดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวต้องอาศัยความร่วมมือกันของประชาคมโลก ไม่สามารถดำเนินการโดยประเทศหนึ่งประเทศใดได้ ดังนั้น การมีส่วนร่วมของประเทศไทยภายใต้ความตกลงปารีสนี้จึงมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการดำเนินการสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

สำหรับการดำเนินงานของประเทศไทย นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อปี พ.ศ. 2537 ประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับนานาประเทศในการรักษาระดับ ความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศและตั้งรับปรับตัวต่อ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ประเทศไทยได้จัดส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี พ.ศ. 2563 (Intended Nationally Determined Contribution: INDC) ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายหลังปี พ.ศ. 2563 ที่ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ

ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำ คัญของประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ซึ่งระบุแนวทางและมาตรการในรายละเอียเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้ตั้งไว้

ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการจัดตั้งกลไกและกำหนดแผนดำเนินการเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้กำหนดไว้ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายใต้คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผน เพื่อพิจารณาและจัดทำร่างแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030 หรือ NDC Roadmap on Mitigation 2021 – 2030)


 

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

ประเทศไทยมีการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ 6 ชนิดที่ต้องรายงานตามพันธกรณีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางดำเนินการร่วมกับหน่วยงานจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยการจัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นการรายงานข้อมูลย้อนหลัง 4 ปี นับจากปีที่จัดส่งรายงาน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้จัดส่งรายงานแห่งชาติแล้วทั้งสิ้น จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดจัดส่งในปี พ.ศ.2561 และได้จัดส่งรายงานรายสองปีแล้วทั้งสิ้น จำนวน 2 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดจัดส่งในปี พ.ศ.2560 ซึ่งการจัดทำบัญชีดังกล่าว ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาได้รับเงินสนับสนุนการจัดทำจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดจากความร่วมมือในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถานการณ์ความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก

การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระของโลก (Global Agenda) ซึ่งผู้นำประเทศต่างให้ความสำคัญ นำไปสู่การกำหนดความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ผู้แทนจาก 195 ประเทศ ได้เห็นชอบความตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังกล่าวร่วมกัน และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ผู้แทนจาก 175 ประเทศ

รวมทั้งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้าร่วมในพิธีลงนามความตกลงปารีส ซึ่งจัดขึ้น ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยโดย

นายกรัฐมนตรีได้ยื่นสัตยาบันสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันมีประเทศที่ยื่นสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคี

จำนวนทั้งสิ้น 184 ประเทศ จากประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC 197 ประเทศ คิดเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 55 ของโลก ซึ่งความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2559

ในการดำเนินการเพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2573 นั้น คณะทำงานจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยมี สผ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ ได้ยกร่างแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ.2564 – 2573 สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสียโดยมีการจัดประชุมคณะทำงานฯ ทั้งสิ้น 5 ครั้งและได้ข้อสรุปว่า สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย เป็นสาขาที่แผนหลักของหน่วยงานมีความพร้อม และมีศักยภาพในการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกได้ คิดเป็นศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ.2573 รวมทั้งสิ้น 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือร้อยละ 20 จากกรณีปกติ โดยมาตรการตามแผนงานที่จะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยมาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง 9 มาตรการ มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย 4 มาตรการและมาตรการในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 2 มาตรการรวมทั้งสิ้น 15 มาตรการ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก ผู้สนับสนุนและกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินมาตรการ

ที่มา : กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดาวน์โหลด
ico    n file download
NDC-Roadmap-for-Printing
ขนาด 1.52 Mb 1 ครั้ง
ดาวน์โหลดตอนนี้
icon hover download