ความทะเยอทะยานของไทย ยกระดับเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 60%
  • 24 มีนาคม 2568
  • 224 ครั้ง

ความทะเยอทะยานของไทย ยกระดับเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 60%
.
ความท้าทายในภาพใหญ่ของประเทศไทยกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608 คือความคืบหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) เป้าหมาย 30 - 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 จากกรณีปกติ (Business as Usual: BAU) ซึ่งไทยได้รายงานเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP29 ที่ 43% หรือคิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) โดยแบ่งเป็นเป้าหมายจากการดำเนินการเองภายในประเทศ 33.3% คิดเป็น 184.8 MtCO2eq จากการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศทั้งการเงิน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ 6.7% คิดเป็น 37.5 MtCO2eq โดยมีการกำหนดเป้าหมายในแต่ละสาขา ได้แก่ พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร และการใช้กลไกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article 6) 3% (1)
.
สำคัญมากกว่านั้น ไทยจะต้องมีการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 หรือ NDC 3.0 เพื่อเสนอต่อสำนักเลขาธิการของ UNFCCC ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี พ.ศ. 2578 ที่จะปรับปรุงจากแผน NDC เดิม ให้สอดคล้องกับเส้น Pathway 1.5 ∙C ดังนี้ การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับปีฐาน หรือ แบบ absolute emission target คือ การกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 270 MtCO2eq ณ ปี พ.ศ. 2578 เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 379.2 MtCO2eq ณ ปี พ.ศ. 2562 ทำให้ไทยจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 109.2 MtCO2eq โดยแบ่งเป็นการดำเนินการเองในประเทศจากมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จริงในแต่ละสาขา และการขอสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีการลงทุนสูง ได้แก่ เทคโนโลยีไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม Battery Energy storage System (BESS) เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMR) การผลิตปูนซีเมนต์แบบปล่อยคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีการกำจัดของเสียและสารทำความเย็น การปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงอาหารสัตว์ เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย (1)
.
เหตุผลที่ทุกประเทศจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างทะเยอทะยานหรือจำเป็นต้องปรับเป้าให้สูงขึ้น เพราะโลกไม่สามารถย้อนกลับไปสู่จุดเดิมได้อีก เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า กิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเคยคงระดับที่ 280 ppm ยาวนานหลายล้านปีได้ทะลุเป็นระดับ 410 ppm ในปี พ.ศ.2562 ก่อนจะทุบสถิติใหม่ของมนุษยชาติในปี พ.ศ.2565 ด้วยระดับความเข้มข้นที่ 421 ppm หรือสูงกว่าระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50% ส่งผลให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกทวีความรุนแรง โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนผิดปกติ และยังเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก (2)
.
ประเทศไทยไม่ได้ท้าทายแค่การปรับเพิ่มตัวเลข แต่ด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ได้ยกเว้นให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ในช่วง 40 - 50 ปีที่ผ่านมาสภาพอากาศของไทยร้อนขึ้นอย่างชัดเจน โดยอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 2 องศาในปี พ.ศ.2593 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศยังมีปริมาณมากเท่าในปัจจุบัน และไม่มีนโยบายการรับมือที่ดีพอ (2)
.
ผลพวงจากภาวะโลกร้อนจะทำให้เหตุการณ์น้ำท่วมกลายเป็นวิกฤตซ้ำซากที่เป็นภาพสะท้อนภาวะโลกรวนอย่างชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกจะไม่เหมือนเดิม โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมาเกิดฝนตกหนักลักษณะ Rain bomb บ่อยครั้งมากขึ้น (ตกหนักมากในบางพื้นที่) แต่ก่อนอาจจะ 10 ปีครั้ง แต่ปี พ.ศ. 2564 เกิดสองครั้ง ปี พ.ศ. 2565 ยังไม่มาก แต่ปี พ.ศ. 2567 เช่นที่ จ.ภูเก็ต ฝนตกหนักมากระดับ 354 มิลลิเมตร ใน 4 ชั่วโมง จากปกติพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทยฝนจะตกหนักแค่ระดับ 200 มิลลิเมตร การที่ฝนตกหนักมากเฉพาะบางพื้นที่ และไม่กระจายตัวจะยิ่งสร้างความเสียหายหนักมากขึ้น (3)
.
ประกอบกับความแปรปรวนของการเกิดมรสุมและพายุที่ไม่เหมือนเดิม อย่างเช่นหลังจากเริ่มต้นฤดูพายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้อย่างเงียบ ๆ พายุยางิก็โหมกระหน่ำใส่ทั้งจีน เวียดนาม และไทยอย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยความเร็ว 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีความรุนแรงเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 4 โดยพัดขึ้นฝั่งด้วยความเร็วประมาณ 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งพายุยางิถือเป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดของปี พ.ศ. 2567 สร้างผลกระทบมากมายทั้งลมแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วม จนทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมากทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน และแน่นอนว่าสาเหตุความรุนแรงของมันมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4)
.
ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทั้งน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมจากชายฝั่งมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9 หมื่นล้านบาท จากเดิมในช่วง 34 ปีเหตุการณ์เหล่านี้จะมีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 886,335 คน (ปี พ.ศ. 2514 - 2547) แต่ในอนาคตผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3,177,190 คน และจะฉุดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยซึ่งติดอันดับ 5 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โลกยิ่งร้อนขึ้นเท่าไร ไทยก็ยิ่งมีโอกาสสูญเสีย GDP มากขึ้น ในกรณีดีที่สุดคืออุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลง 4.9% กรณีเลวร้ายที่สุดหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยอาจลดลงมากถึง 43.6% (2)
.
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปัจจุบันไทยได้เร่งการดำเนินงานตามแผนการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้แก่ แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี พ.ศ. 2558 - 2593 คือ แผนลดโลกร้อนระยะยาวระดับชาติ และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2564 - 2573 ซึ่งภายใต้แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2563 ไทยบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 14% การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 15.99% ในปี พ.ศ. 2564 จาก 10.9% ในปี พ.ศ. 2554 (6)
สำหรับแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานสู่เป้าหมายการลดการลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 แบ่งตามภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ภาคพลังงานปล่อย 69.06% ภาคเกษตรปล่อย 15.69% ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) ปล่อย 10.77% และภาคของเสีย ปล่อย 4.88% โดยภาคพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 3 อันดับ แบ่งออกเป็น การผลิตไฟฟ้าและความร้อน 40.05% การคมนาคม 29.16% และอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 20.24% ซึ่งแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี พ.ศ. 2558 - 2579 จะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ในปี พ.ศ. 2579 และตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี พ.ศ.2558 - 2579 จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ในปี พ.ศ.2579 (6)
.
​ในขณะที่ภาคคมนาคมขนส่ง ปี พ.ศ. 2564 - 2573 จะลดการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว เปลี่ยนไปใช้การเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ และพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายรวมการลดก๊าซเรือนกระจกลง 41 MtCO2eq สำหรับภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้พลังงาน รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การผลิตปูนซีเมนต์ 51.28% การผลิตสารเคมี 33.17% และสารทดแทนที่ไม่ทำลายโอโซน 13.33% จะลดก๊าซเรือนกระจกรวม 2.25 MtCO2eq ภายใน พ.ศ. 2573 (6)
ภาคของเสียสาขาการจัดการของเสียชุมชน แบ่งออก 3 อันดับที่ปล่อยของเสียสูงสุด คือ การกำจัดขยะ 52.53% การบำบัดน้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม 45.71% และการกำจัดขยะด้วยเตาเผาและการเผากลางแจ้ง 1.08% มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกรวม 2 MtCO2eq ภายใน พ.ศ. 2573 และในแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี พ.ศ. 2566 - 2570 ภาคเกษตร มี 3 อันดับที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด แบ่งเป็น การปลูกข้าว 51.28% การหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง 17.19% และการระเหยทางตรงของไนโตรเจนจากดินเกษตร 14.90% ซึ่งตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรวม 1 MtCO2eq (6) ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าภาคเกษตรจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.74 MtCO2eq ภายในปี พ.ศ.2573 (7)
.
จากตัวเลขในแต่ละแผนและเป้าหมายจะพบว่า ประเทศไทยมีความท้าทายในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยที่ไม่สามารถลดละความพยายามได้เลย ทว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มความพยายามในการยกระดับและความทะเยอทะยานการดำเนินงานให้สูงขึ้นไปอีก และเกิดความต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามกรอบเวลาที่วางไว้ได้ในที่สุด
.
อ้างอิง:
(1) https://www.facebook.com/dcceth/posts/970135191809570
(2) https://www.the101.world/thailand-climate-policy/
(3) https://www.igreenstory.co/climatechange-2/
(4) https://ngthai.com/environment/72431/extreme-weather-storm/
(5) https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/63468
(6) https://www.undp.org/stories-climate-master-plan-th
(7) https://www.oae.go.th/view/1/รายละเอียดข่าว/ข่าวทั้งหมด/43062/TH-TH

ที่มา : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม