แรร์เอิร์ธคือธาตุหายาก แต่คิดถึงเธอมากต้องทำไง?
.
ธรณีวิทยาน่ารู้: ธาตุหายาก หายากจริงไหม?
.
ธาตุหายากใช้เป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำคัญยิ่งยวดในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงหลากประเภทของโลกปัจจุบันและอนาคต อาทิ ด้านโลหะผสม (metal alloy) ตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมี (catalyst&chemical process) อุตสาหกรรมเซรามิก/แก้ว (ceramics&glass) สารเรืองแสง (phosphors) เช่น หลอดแอลอีดี, หลอดฟลูออเรสเซนต์, การแสดงผลจอแบน เลเซอร์ แบตเตอรี่โซลิดสเตตแบบชาร์จไฟได้ (Ni-MH) ไฟเบอร์ออปติก และอื่น ๆ นอกจากนี้ ธาตุหายากยังเป็นองค์ประกอบสําคัญในเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เช่น เซลล์เชื้อเพลิงโซลิดสเตต (solid state fuel) ตัวนํายิ่งยวด (superconductors) การระบายความร้อนด้วยแม่เหล็ก (magnetic cooling) การกักเก็บไฮโดรเจน (hydrogen storage) และแม่เหล็กถาวรประสิทธิภาพสูง (high performance permanent magnets) ซึ่งมีความสําคัญอย่างมากสำหรับเทคโนโลยีชั้นสูงต่าง ๆ เช่น กังหันลม (wind turbines) รถยนต์ไฮบริด (hybrid cars) ไปจนถึงไดรฟ์บันทึกข้อมูล (HD drives) ลําโพง และไมโครโฟนโทรศัพท์มือถือ โดยธาตุหายากแต่ละตัวมีการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป
.
แม้ว่าจะเรียกธาตุหายาก (rare earth elements) แต่สามารถพบได้ในเนื้อหินเกือบทุกชนิดที่เป็นส่วนประกอบของเปลือกโลก แหล่งแร่ที่ให้ธาตุหายากพบกระจายตัวทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ เช่น จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุทัยธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และสุราษฎร์ธานี
.
ในประเทศไทยยังมีทรัพยากรแร่ที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อีกมากมายในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่ผสมอยู่ในยาสีฟัน โถสุขภัณฑ์ จานชามเซรามิค โทรศัพท์มือถือ ยานยนต์ จนถึงโครงสร้างถนนหนทางและตึกสูงระฟ้า จากข้อมูลบัญชีทรัพยากรแร่ของไทย ปี พ.ศ. 2566 ร้อยละ 19 ของพื้นที่ประเทศไทยมีทรัพยากรแร่มากกว่า 40 ชนิด โดยชนิดทรัพยากรแร่ที่พบในปริมาณมากที่สุดเกือบร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ คือ เกลือหิน ที่กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การสำรวจจุดค้นพบทรัพยากรแร่ที่สำคัญสามารถต่อยอดนำข้อมูลวิชาการเพื่อพัฒนาการสำรวจศึกษาทรัพยากรธรณีที่สำคัญอื่นๆ ในอนาคต
.
ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี