กะทือพิลาส ดอกขิงข่าในโรงเรือนป่าดิบชื้น
กะทือพิลาส พืชล้มลุก วงศ์ ขิง- ข่า มีเหง้าใต้ดิน สูง 2-3 เมตร เป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการกระจายพันธุ์ตามป่าดิบชื้น ริมลำธาร ทางภายใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และอินเดีย พบที่ระดับราบต่ำ จนถึงที่ระดับความสูง 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดอกออกเป็นช่อสีเหลือง กลีบประดับสีเหลืองเรียงซ้อนกันแน่น คล้ายรังผึ้ง ดอกขนาดเล็กสีม่วงดำจุดสีเหลือง สลับกันออกจากซอกของใบประดับ มองคล้ายกับผีเสื้อลายจุดเกาะอยู่บนช่อดอก ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ช่อดอกคงทนอยู่ได้นาน 2-3 เดือน ตลอดช่วงฤดูฝน ช่วงแรกช่อดอกจะมีขนาดสั้น แล้วจะค่อยๆ ยืดยาว เมื่อแก่จะเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง
กระทือพิลาส จัดว่าเป็นพรรณไม้เด่นในฤดูฝน การนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากช่อดอกที่มีสีสันสวยงาม และอยู่ได้นานตลอดฤดูฝน จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อตัดดอกขาย หรือนำมาใส่แจกันประดับตกแต่ง ดอกตูมและหน่ออ่อนใช้ประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น แกงส้ม แกงเผ็ด เป็นอาหารพื้นเมืองของทางภาคใต้ หรือทานเป็นผักลวกกินกับน้ำพริก เหง้า มีสรรพคุณทางยาเป็นสมุนไพร ใช้ต้มดื่ม ช่วยขับลม บรรเทาอาการปวดท้อง แก้ไอ แก้หืด และบำรุงน้ำนม สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร
กะทือพิลาส
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber spectabile Griff.
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Beehive Ginger
ชื่อท้องถิ่น : ไพลเหลือง, ปุดช้าง, ดาเงาะ, กระทือช้าง
สื่อประชาสัมพันธ์ : สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์