“ธนาคารน้ำ” เก็บน้ำไว้ใต้ดิน รับมือภัยแล้ง
  • 28 กันยายน 2566
  • 1,424 ครั้ง

“ธนาคารน้ำ” เก็บน้ำไว้ใต้ดิน รับมือภัยแล้ง
.
บางพื้นที่ของประเทศไทยมักประสบกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้งยาวจนถึงปี 2568 ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลามีน้ำมากก็หาแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่อให้สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปี
.
ธนาคารน้ำใต้ดินนับเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ด้วยแนวคิดน้ำมากก็ฝากไว้ใต้ดิน น้ำน้อยค่อยเอาออกมาใช้ โดยปัจจุบันการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมกับระบบธนาคารน้ำใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา คัดเลือกองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีไม่มีการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน และไม่ควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะจะเสี่ยงการปนเปื้อนจาก โลหะหนัก สารเคมี สู่ดินและน้ำใต้ดินในระยะยาว ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินนั้นมี 2 ระบบ คือ ระบบปิด เป็นการขุดหลุมเพื่อดึงน้ำฝนที่อยู่บนพื้นดินลงสู่ใต้ดินในระดับชั้นผิวดิน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินในพื้นที่โดยรอบ และระบบเปิด เป็นการเติมน้ำลงบ่อก่อนนำมาใช้ ลักษณะเป็นบ่อเปิดโดยทั่วไป มีความลึกถึงชั้นหินซึมน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถกรองผ่านชั้นดินและชั้นหินลงไปสู่ชั้นน้ำบาดาลตื้นได้
.
ปัจจุบันมีหลายชุมชนที่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้สำเร็จด้วยการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ตัวอย่างเช่น ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท จากชุมชนที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง เพราะเป็นที่สูงต้องรอน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น เมื่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดินแล้วก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ จนกลายเป็น“ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน” โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากที่เกษตรกรต้องซื้อน้ำใช้ถึงปีละ 1 ล้านบาท กลับมีน้ำใช้ในการเลี้ยงหมูและปลูกพืชได้ทั้งปี และชุมชนรอบเขายายดา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เดิมประสบปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนและการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำส่วนเกินจากหน้าฝนสร้างความชุ่มชื้นให้ดินได้ตลอดทั้งปี
.
จากความสำเร็จของชุมชนต่างๆ นั้น จะเห็นว่าธนาคารน้ำใต้ดินเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ด้วยการเก็บน้ำส่วนเกินจากหน้าฝนไว้ใช้ประโยชน์ยามแล้ง รวมถึงเกษตรกรสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ ส่งผลดีต่อผลผลิตและนำไปสู่การมีรายได้ภาคเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน
.
อ้างอิง:
https://ngthai.com/sustainability/41444/scgcgroundwaterbank/
https://thainews.prd.go.th/.../detail/TCATG200614125508424
https://mgronline.com/science/detail/9620000087518
https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2563-nov3
https://www.technologychaoban.com/bullet.../article_126510
https://www.thebangkokinsight.com/.../environmen.../1149515/
https://www.opsmoac.go.th/angthong-local_wisdom-preview...
https://www.dkmmap.nrct.go.th/.../upload.../64-088.pdf...